เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต] 1. ปฐมวรรค 6. กุลาวกสูตร

เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ของคนทั้ง 2 ฝ่าย
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น
ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมเข้าใจว่าเป็นคนโง่
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทพพากัน
อนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่งเฉย ครั้งนั้น ผู้ตัดสินทั้งของพวกเทพและพวกอสูรได้
กล่าวดังนี้ว่า ‘ท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสคาถาทั้งหลายแล้ว แต่คาถาเหล่านั้นมีความ
เกี่ยวข้องกับอาชญา มีความเกี่ยวข้องกับศัสตรา เพราะเหตุนั้น จึงยังมีความ
ทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ส่วนท้าวสักกะจอมเทพตรัสคาถาทั้งหลายแล้ว
คาถาเหล่านั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญา ไม่เกี่ยวข้องกับศัสตรา เพราะเหตุนั้น จึงไม่มี
ความทะเลาะ ไม่มีความแก่งแย่ง ไม่มีความวิวาท ท้าวสักกะจอมเทพชนะเพราะได้
กล่าวคำสุภาษิต ชัยชนะด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ได้เป็นของท้าวสักกะจอมเทพ
ด้วยประการฉะนี้”

สุภาสิตชยสูตรที่ 5 จบ

6. กุลาวกสูตร
ว่าด้วยรังนก

[252] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพกับอสูรประชิดกัน
สงครามครั้งนั้นพวกอสูรเป็นฝ่ายชนะ พวกเทพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พวกเทพผู้พ่ายแพ้
ต่างพากันหนีไปทางทิศเหนือ พวกอสูรได้ชวนกันไล่ติดตามพวกเทพเหล่านั้นไปทันที
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสกับมาตลีสังคาหกเทพบุตรด้วยคาถาว่า
มาตลี เธอจงหลีกเลี่ยงรังนกในป่างิ้ว
โดยบ่ายหน้ารถกลับ
ถึงเราจะต้องสละชีวิตให้พวกอสูรก็ตามที
ขออย่าให้นกเหล่านี้พลัดพรากจากรังเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :369 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
1. ปฐมวรรค 7. นทุพภิยสูตร

ภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตรรับพระดำรัสของท้าวสักกะจอมเทพว่า
‘ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์’ แล้วให้รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนย 1,000 ตัว
หันกลับ ครั้งนั้น พวกอสูรคิดว่า ‘บัดนี้ รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนย 1,000 ตัว
ของท้าวสักกะจอมเทพหันกลับมาแล้ว พวกเทพคงจักทำสงครามกับพวกอสูร
เป็นครั้งที่ 2 อีกแน่’ พวกอสูรต่างตกใจหนีกลับเข้าไปยังเมืองอสูร ชัยชนะครั้งนี้
เป็นชัยชนะเพราะธรรมอย่างแท้จริงของท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยประการฉะนี้

กุลาวกสูตรที่ 6 จบ

7. นทุพภิยสูตร
ว่าด้วยการไม่ประทุษร้าย

[253] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพทรงหลีกเร้นประทับ
พักผ่อนอยู่ในที่พักเกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เราไม่ควรประทุษร้ายแม้แก่ผู้ที่เป็น
ข้าศึกต่อเรา’ ครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ทราบความรำพึงของท้าวสักกะ
จอมเทพด้วยใจของตนแล้ว เข้าไปหาท้าวสักกะจอมเทพจนถึงที่ประทับ ท้าวสักกะ
จอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นท้าวเวปจิตติจอมอสูรมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้ตรัสกับ
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรดังนี้ว่า ‘หยุดเถิด ท่านท้าวเวปจิตติ ท่านถูกจับแล้ว’
ท้าวเวปจิตติถามว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละทิ้งความคิดครั้งก่อนของท่าน
แล้วหรือ’ ท้าวสักกะตรัสว่า ‘ท่านท้าวเวปจิตติ ขอให้ท่านจงสาบานเพื่อที่จะไม่
ประทุษร้ายต่อเรา’
ท้าวเวปจิตติกล่าวคาถาว่า
ท่านท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ
บาปของคนผู้ติเตียนพระอริยะ
บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร
และบาปของคนอกตัญญู
จงถูกต้องผู้ประทุษร้ายท่านเถิด

นทุพภิยสูตรที่ 7 จบ